มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 25

แนวคิด "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 25" พันธกิจมนุษย์ หยุดโลกร้อน
Driving… for Sustainability


         • ภาวะโลกร้อน หรือ การที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี กำลังจะกลายเป็น "วิกฤต" ร้ายแรงที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้
         ปัจจุบันผลร้ายจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดพายุขนาดใหญ่ การละลายของภูเขาน้ำแข็ง และธารน้ำแข็ง ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในเขตขั้วโลก รวมไปถึงการเกิดคลื่นความร้อน และภาวะฝนแล้ง ไฟป่า และโรคระบาดในแทบทุกส่วนของโลก ฯลฯ
         ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตโลกร้อน คือกลุ่มกาซเรือนกระจก ที่ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ รวมทั้งคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือซีเอฟซี สารทำลายชั้นโอโซน ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ อย่างมากมายไร้การควบคุมจนเกิดการสะสมในชั้นบรรยากาศ ปกคลุมห่อหุ้มโลก ปิดกั้นการระบายความร้อนเหมือนเรือนกระจกขนาดมหึมา
         ความหวังที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อน อยู่ที่ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เรียกว่า "พิธีสารมอนทรีอัล" ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกการผลิตสารซีเอฟซีตั้งแต่ปี 1996 และ "พิธีสารเกียวโต" ซึ่งภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องลดภาวะเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 8 ภายในปี 2008 " 2012
         พิธีสารทั้งสองฉบับบ่งชี้ให้เห็นว่า บัดนี้มนุษย์ทุกคนล้วนมี "พันธกิจ" ในการ "หยุด" ภาวะโลกร้อนมิให้ลุกลามบานปลาย
         อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของพิธีสารเกียวโต คือการลดกาซคาร์บอนไดออกไซด์ จากยานยนต์ทุกประเภท ดังนั้น ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกจึงหันมาจับมือกันดำเนินการต่าง ๆ เพื่อต้านภัยโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
         เริ่มจากในปี 1996 สมาชิกกลุ่มประชาคมยุโรปทำความตกลงร่วมกันที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์จากเดิม 160 ก./กม. ให้เหลือเพียง 120 ก./กม. ภายในปี 2010
         ปี 1998 กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป (ACEA: EUROPEAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION) ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีโดยมีเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์จากรถเก๋งที่จะส่งเข้าไปขายในยุโรปให้เหลือ 140 ก./กม. ภายในปี 2008
         อีกหนึ่งปีถัดมา กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น (JAMA: JAPAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION) พร้อมทั้งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในเกาหลี (KAMA: KOREA AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION) ก็ตกลงร่วมกันที่จะลดกาซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 140 ก./กม. ภายในปี 2009
         ส่วนซีเอฟซีนั้นบริษัทผู้ผลิตรถเลิกใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนปี 2000 ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปีนับจากนี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่มนุษย์ต้องเอาใจใส่ในการใช้พลังงาน และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ความพอเพียงเพื่อลดการเบียดเบียนธรรมชาติ
         ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ต้องเร่งแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การพัฒนาเครื่องยนต์ไฮบริด ทั้งแบบเบนซิน และดีเซล เครื่องยนต์ที่ใช้ซีเอนจี เชื้อเพลิงชีวภาพ และเซลส์เชื้อเพลิง ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังให้ความสนใจปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมภาวะโลกร้อนให้ทรุดหนักลงไปกว่านี้ด้วย เช่น การใช้"พลาสติคเขียว"ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายใน ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันดิบในกระบวนการผลิตพลาสติค ทั้งนี้ยังไม่นับเทคโนโลยีทันสมัยอื่นๆ ที่คิดค้นขึ้นเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง เช่น ระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อจอด เป็นต้น
         นี่คือ "พันธกิจ" ของมนุษยชาติทั้งมวล และเป็น "ภารกิจ" สำคัญของผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลก ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังดำเนินไปอย่างท้าทาย ซึ่งงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 25”พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือดังกล่าว โดยจัดแสดงยานยนต์รุ่นใหม่ที่ล้วนได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติในการต้านภัยโลกร้อนอย่างแข็งขัน ภายใต้แนวคิด "พันธกิจมนุษย์ หยุดโลกร้อน"
Follow Motor Expo Club Network
.............