แนวคิด มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32

แนวคิด "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32"  
มาตรฐานใหม่ ยานยนต์ไทยใส่ใจโลก

         ด้วยเหตุที่ยานยนต์ เป็นตัวการสำคัญในการปล่อย “แกสเรือนกระจก” ออกสู่บรรยากาศ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตโลกร้อน บรรดาผู้ผลิตจึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์ยานยนต์ที่สะอาด และประหยัดพลังงาน รวมถึงแสวงหาพลังงานทดแทนที่ปราศจากมลพิษ เช่น พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นต้น
         การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในต่างประเทศ ก็มีความเข้มงวดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 รถยนต์ที่จำหน่ายในยุโรปทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การลดปริมาณไนตรัสออกไซด์ หนึ่งในแกสเรือนกระจก ที่ส่วนใหญ่จะปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซล โดยอนุญาตให้ปล่อยได้เพียงไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร ขณะที่มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2554 กำหนดให้ปล่อยได้ถึง 180 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตร
         ส่วนไอเสียจากเครื่องยนต์เบนซิน ตามมาตรฐานใหม่นี้ จะมีซัลเฟอร์ แกสเรือนกระจกอีกชนิดหนึ่งได้ไม่เกิน 5 พีพีเอม หรือ 5 ส่วนในล้านส่วน ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50 พีพีเอม
         นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการ GLOBAL FUEL ECONOMY INITIATIVE (GFFI) ขึ้น เพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แกสเรือนกระจกที่เรารู้จักกันดี ด้วยการตั้งเป้าลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในรถยนต์ใหม่ทั่วโลกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573
         แน่นอนว่า มาตรการของภาครัฐ และการรณรงค์ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ของยานยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         สำหรับในประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด “แผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ พศ. 2555-2559” โดยคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่เน้นการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัย รวมถึงแนวโน้มการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
         ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของแผนแม่บทฉบับล่าสุด จึงอยู่ที่การพัฒนายานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน มีกระบวนการผลิตที่สะอาด มีมาตรฐานมลพิษ และความปลอดภัยระดับสูง
         เป้าหมายดังกล่าว นำไปสู่การกำหนด “มาตรฐานใหม่” ของยานยนต์ไทยที่แสดงความเอาใจใส่ต่อสภาพแวดล้อมของโลก อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีทั้งมาตรฐานที่จะนำมาใช้ในอนาคต และมาตรฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
         โดยในอนาคต กรมควบคุมมลพิษ วางแผนจะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 6 กับรถยนต์ใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ส่วนรถจักรยานยนต์ ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ขณะที่มาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องสอดคล้องกัน โดยจะลดกำมะถันเหลือเพียง 10 พีพีเอม หรือลดลงถึง 5 เท่าจากปัจจุบัน
         โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะ 2 หรือ “อีโคคาร์ 2” ก็ต้องผ่านมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นเช่นกัน ได้แก่ มาตรฐานมลพิษ ยูโร 5 และอัตราการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร
         ยิ่งกว่านั้น ผู้ผลิตยังต้องยกระดับมาตรฐานการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์นั่งและรถกระบะ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์โครงสร้างใหม่ ที่กำหนดบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
         ทั้งนี้เนื่องจาก โครงสร้างภาษีใหม่จะพิจารณาจัดเก็บจากอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ แทนการจัดเก็บตามปริมาณความจุกระบอกสูบ โดยรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย จะเสียภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก
         ตัวอย่างเช่น รถยนต์นั่งขนาดต่ำกว่า 3,000 ซีซี หากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีร้อยละ 30 แต่ถ้าปล่อยมากกว่านั้นจะต้องเสียภาษีร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 40
         ส่วน อีโคคาร์ ถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีเพียงร้อยละ 14 เกินกว่านั้นเสียร้อยละ 17
         ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลก พร้อมสร้างสรรค์ยานยนต์ยุคใหม่ที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัย เราจึงจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32” ขึ้นภายใต้แนวคิด“มาตรฐานใหม่ ยานยนต์ไทยใส่ใจโลก”
Follow Motor Expo Club Network
.............